ระเบียบการให้กู้เงิน

ดาวน์โหลดเป็นไฟล์PDF

ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด
ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์
พ.ศ.2564
—————————————————-


       อาศัยอำนาจตามความในข้อบังคับของสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด ข้อ 80 (8) และ ข้อ 110 (3) ที่ประชุมคณะกรรมการดำเนินการชุดที่ 37 ครั้ง 8/2564 เมื่อวันที่ 23 เดือน กันยายน พ.ศ. 2564 จึงได้มีมติกำหนดระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์ พ.ศ. 2564 ไว้ ดังต่อไปนี้
       ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า“ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์ พ.ศ.2564”
       ข้อ 2. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564
       ข้อ 3. ให้ยกเลิก ระเบียบสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิกสหกรณ์ พ.ศ. 2562 บรรดาระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มติ หรือข้อตกลงอื่นใดซึ่งขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
       ข้อ 4. ในระเบียบนี้
            “สหกรณ์” หมายถึง สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด
            “สมาชิก” หมายถึง สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด
            “ประธานกรรมการ” หมายถึง ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด
            “รองประธานกรรมการ” หมายถึง รองประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด
            “คณะกรรมการ” หมายถึง คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด
            “ผู้จัดการ” หมายถึง ผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด
            “รายได้รายเดือน” หมายถึง เงินเดือน และให้รวมถึงบำนาญ เงินประจำตำแหน่ง

 

หมวด 1
ข้อกำหนดทั่วไป

 

       ข้อ 5. สหกรณ์ให้เงินกู้แก่สมาชิก 3 ประเภท คือ
            (1) เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน
            (2) เงินกู้สามัญ
            (3) เงินกู้พิเศษ
       ข้อ 6. สหกรณ์จะให้เงินกู้เฉพาะสมาชิกเท่านั้น
       ข้อ 7.การให้เงินกู้แก่สมาชิกจะให้ได้เฉพาะกรณีเพื่อการอันจำเป็นหรือมีประโยชน์ตามที่คณะกรรมการ
ดำเนินการเห็นสมควร แต่จะให้เงินกู้เพื่อการสุรุ่ยสุร่ายหรือการเก็งกำไรไม่ได้
       ข้อ 8. สมาชิกผู้ประสงค์ขอกู้เงิน ต้องเสนอคำขอกู้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้
       ข้อ 9. การให้เงินกู้ทุกประเภทนั้น ผู้กู้ต้องทำหนังสือกู้และสมาชิกผู้ค้ำประกัน (ถ้ามี) ต้องทำหนังสือค้ำประกันให้ไว้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้ และหนังสือยินยอมให้หักเงินเดือน เงินปี และเงินอื่น ๆ ในลักษณะเดียวกัน
       ข้อ 10. การชำระเงินงวดชำระหนี้เงินกู้ทุกประเภทซึ่งผู้กู้ต้องชำระต่อสหกรณ์นั้น ให้ชำระโดยวิธีหักจากเงินได้รายเดือนของผู้กู้ ณ ที่จ่าย

 

หมวด 2
เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน

 

       ข้อ 11. การให้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบอำนาจให้ประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการ หรือผู้จัดการ หรือกรรมการดำเนินการอื่นๆ ตามที่เห็นสมควรเป็นผู้วินิจฉัยให้เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินแทนคณะกรรมการดำเนินการก็ได้ และให้ผู้ได้รับมอบอำนาจดังกล่าวนั้นแถลงรายการเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินที่ให้ไป และส่งคืนเพื่อให้คณะกรรมการดำเนินการทราบทุกเดือน
       ข้อ 12. เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน ที่ให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่งๆ นั้น ให้มีจำนวนไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือสี่เท่าแห่งเงินได้รายเดือนของสมาชิกนั้น สุดแต่จำนวนไหนน้อยกว่า
ในกรณีที่สมาชิกนั้นยังมีเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินรายก่อนเหลืออยู่ คณะกรรมการอาจจะให้กู้รายใหม่ได้ แต่เงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินรายใหม่และรายก่อนรวมกัน จะมีจำนวนต้นเงินเกินกว่าจำกัดที่กล่าวในวรรคก่อนไม่ได้ และเกินกว่าหนึ่งสัญญาไม่ได้
       ข้อ 13. หลักประกันสำหรับเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน นอกจากหนังสือกู้ ซึ่งผู้กู้ได้ทำไว้ต่อสหกรณ์แล้ว ไม่ต้องมีหลักประกันอื่นอีก
       ข้อ 14. การส่งเงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉิน ให้ผู้กู้ส่งคืนต้นเงินกู้พร้อม ดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือน แต่ไม่เกิน 12 งวด
ทั้งนี้ การส่งคืนเงินกู้ให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัดโดยไม่มีการผ่อนเวลาแต่อย่างใดอีก

 

หมวด 3
เงินกู้สามัญ

 

       ข้อ 15. การให้เงินกู้สามัญ ให้คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัย ให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิก
คณะกรรมการดำเนินการ อาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเงินกู้ขึ้น ตามความในข้อบังคับของสหกรณ์ ข้อ 80 (11) และข้อ 84 และมอบอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาวินิจฉัยให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกก็ได้
       ข้อ 16. สมาชิกซึ่งอาจได้รับเงินกู้สามัญได้ต้องเป็นสมาชิกในสหกรณ์นี้ ติดต่อกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 6 เดือน

       ข้อ 17. คำขอเงินกู้สามัญของสมาชิกนั้น ต้องเสนอโดยผ่านการพิจารณาให้ความเห็นดังต่อไปนี้
            (1) สมาชิกผู้ขอกู้เป็นข้าราชการหรือทำงานในหน่วยงานของรัฐ ต้องเสนอผ่านหัวหน้าหน่วยงานหรือผู้บังคับบัญชาหรือบุคคลดังกล่าวมอบหมาย
            (2) สมาชิกผู้ขอกู้เป็นเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ ต้องเสนอผ่านประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการ
            (3) สมาชิกผู้ขอกู้เป็นข้าราชการบำนาญที่ไม่อาจจะปฏิบัติตาม (1) ต้องเสนอผ่านประธานกรรมการหรือรองประธานกรรมการ
ในกรณีผู้ขอกู้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบชั้นต้น ตามข้อ 17 (1) หรือ (2) หรือ (3) ให้ยื่นคำขอเงินกู้สามัญต่อคณะกรรมการดำเนินการโดยตรง
       ข้อ 18. จำนวนเงินกู้สามัญที่ให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่งๆนั้นย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นสมควร แต่ต้องอยู่ภายในจำกัดไม่เกิน ดังต่อไปนี้
            (1) เป็นสมาชิกไม่เกินสามปีกู้ได้สามสิบห้าเท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 1,000,000 บาท
            (2) เป็นสมาชิกตั้งแต่สามปี แต่ไม่เกินห้าปีกู้ได้สี่สิบเท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 1,200,000 บาท
            (3) เป็นสมาชิกตั้งแต่ห้าปี แต่ไม่เกินสิบปีกู้ได้สี่สิบห้าเท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 1,500,000 บาท
            (4) เป็นสมาชิกเกินสิบปีขึ้นไปกู้ได้ห้าสิบเท่าของเงินเดือน แต่ไม่เกิน 2,000,000 บาท
       สหกรณ์ให้เงินกู้แก่สมาชิกและสมาชิกสมทบ ไม่เกินมูลค่าหุ้นที่มีอยู่กับสหกรณ์จะไม่เรียกหลักประกันก็ได้ ทั้งนี้วงเงินกู้ต้องไม่เกินร้อยละ 90 ของทุนเรือนหุ้น
       สมาชิกผู้กู้ทุกคนจะกู้เงินสามัญตามข้อ 18 วรรค 1 ต้องมีเงินรายได้รายเดือนคงเหลือหลังจากหักรายการต่างๆของสหกรณ์และรายจ่ายอื่นๆแล้ว ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของเงินได้รายเดือน แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน)
       ในกรณีสมาชิกกู้เงินตามข้อ 18 (1) (2) (3) (4) คณะกรรมการจะพิจารณาวงเงินกู้ตามระยะเวลาคงเหลือของการเกษียณอายุราชการ โดยระยะเวลาผ่อนชำระเงินกู้ให้มีทุนเรือนหุ้นสะสมเพียงพอที่จะชำระหนี้คงค้างกับสหกรณ์เมื่อเกษียณอายุราชการ และสมาชิกที่เป็นข้าราชการบำนาญจะกู้เงินสามัญตามที่กำหนดไว้ในข้อ 18 (1) (2) (3) (4) นี้ไม่ได้
       ข้อ 19. ถ้าคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร จะให้เงินกู้สามัญแก่สมาชิกที่ยังส่งคืนเงินกู้สามัญ รายก่อนไม่เสร็จก็ได้ โดยจะประกาศให้ทราบเป็นคราวๆ ไป และจำนวนเงินกู้สามัญรวมทุกรายการของสมาชิก ผู้กู้คนหนึ่ง ๆ ในเวลาใดเวลาหนึ่ง จะมีจำนวนต้นเงินเกินกว่าจำกัดที่กล่าวในข้อ 18 ไม่ได้
       ข้อ 20. ในการให้เงินกู้สามัญนั้น ถ้าปรากฏว่า สหกรณ์มีเงินทุนที่จะให้กู้ได้ไม่พอแก่การขอกู้ อันมีลักษณะพึงให้ผู้นั้นทุกราย ให้ถือลำดับในการพิจารณาให้เงินกู้ ดังต่อไปนี้
            (1) เงินกู้ซึ่งกู้ร้อยละ 90 ของทุนเรือนหุ้นที่มีอยู่ให้ในลำดับก่อนเงินกู้ ซึ่งมีหลักประกันอย่างอื่น
            (2) ในระหว่างเงินกู้ ซึ่งอยู่ในลำดับเดียวกันตามที่กล่าวในข้อ (1) นั้นเงินกู้ซึ่งมีจำนวนน้อยพึง
ให้ก่อนเงินกู้ซึ่งมีจำนวนมาก เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ จำนวนเงินกู้ที่นำมาเทียบกันนั้นให้คิดรวมทั้งเงินกู้สามัญและเงินกู้เพื่อเหตุฉุกเฉินรายก่อนของผู้กู้ที่คงเหลืออยู่ (ถ้ามี) ด้วย ทั้งนี้เว้นแต่ในกรณีที่คณะกรรมการดำเนินการหรือคณะกรรมการเงินกู้เห็นว่ามีเหตุผลพิเศษจะวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นก็ได้
       ข้อ 21. หลักประกันสำหรับเงินกู้สามัญ ถ้าเงินกู้สามัญรายนั้น โดยเฉพาะรายเดียวก็ดี หรือเมื่อรวมกับเงินกู้สามัญรายก่อนของผู้กู้ (ถ้ามี) ก็ดี มีจำนวนเกินกว่าข้อ 18 วรรค 2 ซึ่งผู้กู้มีอยู่ในสหกรณ์ก็ต้องมีหลักประกันอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้
            (1) มีสมาชิกที่มิได้เป็นสามี ภรรยา ทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัยของผู้กู้ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรค้ำประกันเพื่อหนี้สินเกี่ยวกับเงินกู้สามัญรายนั้น แต่ถ้าผู้กู้มีเงินกู้สามัญรายก่อนเหลืออยู่ด้วยก็ต้องให้ค้ำประกันเพื่อหนี้สินเกี่ยวกับเงินกู้สามัญรายใหม่นั้นทั้งหมด ตามหลักเกณฑ์ดังนี้
       – วงเงินกู้ไม่เกิน 500,000.- บาท ต้องมีผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 1 คน
       – วงเงินกู้เกิน 500,000.- บาท แต่ไม่เกิน 1,000,000.-บาท ต้องมีผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 2 คน
       – วงเงินกู้เกิน 1,000,000.- บาทแต่ไม่เกิน 1,500,000.-บาท ต้องมีผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 3 คน
       – วงเงินกู้เกิน 1,500,000.- บาท ต้องมีผู้ค้ำประกันอย่างน้อย 4 คน
       เพื่อความมั่นคงในการให้เงินกู้สามัญ คณะกรรมการดำเนินการมีอำนาจวินิจฉัยเรียกให้ผู้ค้ำประกันมากกว่าสามคนได้
       สมาชิกคนหนึ่งจะมีหนี้สินต่อสหกรณ์ในฐานะผู้ค้ำประกันโดยจำนวนต้นเงินรวมกันทั้งหมดไม่เกินกว่าสิทธิกู้
       เมื่อผู้ค้ำประกันคนใดตายหรือออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใดๆหรือมีเหตุที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าไม่สมควรที่จะเป็นผู้ค้ำประกันต่อไป ผู้กู้ต้องจัดให้สมาชิกอื่นซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรเข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทนคนเดิมให้เสร็จภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนด
       การให้สมาชิกผู้ค้ำประกันออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเหตุใด ๆ ไม่เป็นเหตุให้ผู้นั้นหลุดพ้นจากการค้ำประกันจนกว่าผู้กู้ได้จัดให้สมาชิกอื่นซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรเข้าเป็นผู้ค้ำประกันแทน
       อนึ่ง ภายหลังจากทำหนังสือค้ำประกันแล้ว ถ้าสมาชิกผู้ค้ำประกันได้เป็นสามี ภรรยา ทั้งโดยพฤตินัยและนิตินัยของผู้กู้ ผู้กู้จะต้องจัดให้มีสมาชิกอื่น ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรเป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ส่วนที่เกินกว่าค่าหุ้นของผู้กู้โดยเร็วด้วย
            (2) มีอสังหาริมทรัพย์อันปลดจากภาระจำนองรายอื่น จำนองเป็นประกันเต็มจำนวนเงินกู้รายนั้น โดยต้องเป็นที่พอใจของคณะกรรมการดำเนินการว่าจำนวนเงินกู้ส่วนที่เกินกว่าค่าหุ้นของผู้กู้ต้องอยู่ภายใน ร้อยละหกสิบ แห่งค่าของอสังหาริมทรัพย์นั้น
            (3) มีหลักทรัพย์รัฐบาลหรือเอกสารการฝากเงินธนาคารหรือในสหกรณ์ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควรจำนำเป็นประกัน โดยจำนวนเงินกู้ส่วนที่เกินกว่าค่าหุ้นของผู้กู้ต้องอยู่ภายในร้อยละแปดสิบ แห่งค่าของหลักทรัพย์นั้น
       ข้อ 22. การส่งเงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้สามัญ ให้คณะกรรมการดำเนินการพิจารณากำหนดให้ผู้กู้ส่งคืนเงินกู้สามัญเป็นงวดรายเดือนเท่ากันพร้อมดอกเบี้ย หรือส่งคืนเงินกู้สามัญพร้อมดอกเบี้ยเป็นงวดรายเดือนเท่ากัน เป็นจำนวนกี่งวดก็สุดแต่จะเห็นเป็นการสมควรตามฐานะของผู้กู้ จำนวน และความมุ่งหมายแห่งเงินกู้ แต่ไม่เกินหนึ่งร้อยห้าสิบงวด ตั้งแต่เดือนที่คิดดอกเบี้ยเดือนแรก
       ในกรณีที่ผู้กู้มีคำขอเป็นหนังสือและคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่ามีเหตุอันสมควรผ่อนผันเป็นพิเศษ คณะกรรมการดำเนินการจะผ่อนเวลาการส่งเงินงวดชำระหนี้สำหรับเงินกู้สามัญที่กำหนดไว้ตามความในวรรคก่อนนั้นให้แก่ผู้กู้คราวละหนึ่งหรือหลายเดือนก็ได้ ในการผ่อนผันการชำระหนี้ของสมาชิก สมาชิกจะต้องชำระดอกเบี้ยตามต้นเงินคงเหลือทุกเดือนห้ามงดการชำระดอกเบี้ยให้กับสหกรณ์ แต่การผ่อนเวลาเช่นนี้รวมกันทั้งหมดสำหรับเงินกู้สามัญรายหนึ่ง ๆ ต้องไม่เกินหกเดือน
       หากสหกรณ์ฯ ตรวจพบภายหลังว่าสมาชิกมีการกระทำใดๆ ที่เป็นเท็จต่อสหกรณ์ฯ คณะกรรมการดำเนินการจะพิจารณาห้ามมิให้สมาชิกรายนั้นกู้เงินทุกประเภทจากสหกรณ์ไม่น้อยกว่าสิบสองเดือนและเรียกคืนเงินกู้ที่ได้รับ

 

หมวด 4
เงินกู้พิเศษ

 

       ข้อ 23. การให้เงินกู้พิเศษนั้นให้เฉพาะเพื่อการเคหะสงเคราะห์ เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ และเพื่อซื้อรถยนต์ตามข้อกำหนดในระเบียบนี้
       คณะกรรมการดำเนินการอาจพิจารณาให้เงินกู้พิเศษ นอกเหนือจากวรรคก่อนได้ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
       อนึ่ง ให้ถือว่าการกู้เงินเพื่อการเคหะสงเคราะห์ อยู่ในลำดับก่อนเงินกู้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ คณะกรรมการดำเนินการอาจมอบอำนาจให้คณะกรรมการเงินกู้พิจารณาอนุมัติเงินกู้พิเศษก็ได้
       ข้อ 24. สมาชิกซึ่งอาจได้รับเงินกู้พิเศษ ต้องเป็นสมาชิกในสหกรณ์นี้ติดต่อกันมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปี
       ข้อ 25. สมาชิกผู้กู้เงินกู้พิเศษไปแล้ว สามารถกู้เงินสามัญได้ โดยสิทธิการกู้เงินสามัญ ตามข้อ 18 วรรค 2 และให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการ
       ข้อ 26. เงินกู้ซึ่งถือเป็นเงินกู้พิเศษและใช้ระยะเวลาส่งคืนตามที่กำหนดไว้สำหรับเงินกู้พิเศษได้นั้น ต้องมีจำนวนเกินกว่าเงินกู้สามัญจากสหกรณ์ ซึ่งสมาชิกนั้นอาจกู้ได้
       ข้อ 27. การให้เงินกู้พิเศษนั้นต้องได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่าสามในสี่ของจำนวนกรรมการดำเนินการผู้เข้าประชุมพิจารณาคำขอกู้รายนั้น
       ข้อ 28. เมื่อคณะกรรมการดำเนินการได้วินิจฉัยให้เงินกู้พิเศษ ทั้งหนังสือกู้และเอกสารทางกฎหมายอย่างอื่นๆ เกี่ยวกับเงินกู้นั้นได้จัดทำตามแบบที่กำหนดไว้โดยครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว สมาชิกผู้กู้จึงรับเงินกู้จากสหกรณ์ได้
       เพื่อเป็นการควบคุมการใช้จ่ายเงินกู้ให้เป็นไปตามความมุ่งหมาย คณะกรรมการอาจให้สมาชิกผู้กู้ส่งจำนวนเงินกู้พิเศษซึ่งตนได้รับ เข้าฝากในประเภทเงินรับฝากออมทรัพย์ในสหกรณ์นี้เพื่อถอนไปใช้จ่ายเป็นคราวๆ ในเมื่อถึงกำหนดจ่ายตามความมุ่งหมายก็ได้ การฝากเงินดังกล่าวนี้ให้เปิดบัญชีเฉพาะ และสหกรณ์จะคิดดอกเบี้ยให้ตามยอดเงินคงเหลือ ส่วนข้อกำหนดอื่นๆ ให้อนุโลมตามระเบียบการว่าด้วยเงินรับฝากออมทรัพย์จากสมาชิก
       คณะกรรมการดำเนินการอาจยกเว้นข้อกำหนดดังกล่าวในวรรคสองนั้นได้ ในกรณีที่สมาชิกผู้กู้แสดงให้เป็นที่พอใจคณะกรรมการดำเนินการว่ามีเหตุผลเป็นพิเศษ
       ข้อ 29. เมื่อถึงกำหนดที่สมาชิกผู้กู้ต้องใช้จ่ายเงินกู้พิเศษตามความมุ่งหมายต้องเสนอรายงานการใช้จ่ายเงินกู้ตามแบบที่กำหนดไว้พร้อมหลักฐานที่มีต่อสหกรณ์ทุกคราวโดยเร็วที่สุดที่จะกระทำได้ สหกรณ์อาจมอบให้กรรมการดำเนินการหรือบุคคลอื่นตามที่เห็นสมควรสอบสวนการใช้จ่ายเงินกู้ตามรายงานนั้นๆ อีกชั้นหนึ่งด้วย
       ข้อ 30. ตราบใดที่สมาชิกยังส่งคืนเงินกู้พิเศษไม่เสร็จ ตนจะต้องยินยอมและอำนวยความสะดวกให้กรรมการดำเนินการ หรือบุคคลอื่นที่ได้รับมอบหมายจากสหกรณ์เข้าตรวจการก่อสร้างต่อเติม หรือปรับปรุงหรือทรัพย์สิน หรือการประกอบอาชีพที่ใช้เงินกู้นั้นในเวลาอันสมควรได้เสมอและต้องชี้แจงข้อความเกี่ยวกับเรื่องที่ตรวจให้ทราบตามความประสงค์

เงินกู้พิเศษเพื่อการเคหะสงเคราะห์

 

       ข้อ 31. เงินกู้พิเศษเพื่อการเคหะสงเคราะห์ ได้แก่
            (1) เงินกู้เพื่อการก่อสร้าง ต่อเติม หรือปรับปรุงอาคาร หรือไถ่ถอนจำนองสำหรับใช้เป็นที่อยู่
อาศัยของตนเองและครอบครัวตามควรแก่ฐานะ
            (2) เงินกู้เพื่อซื้ออาคาร หรือซื้อที่ดินและอาคาร หรือซื้อที่ดิน เพื่อจะได้ก่อสร้างอาคารใน
ระยะเวลาอันสมควร ทั้งนี้ สำหรับใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตนเองและครอบครัวตามควรแก่ฐานะ
            (3) เงินกู้เพื่อกิจการ ที่เกี่ยวข้องหรือจำเป็นแก่ (1) หรือ (2)
       ข้อ 32. สมาชิกผู้ประสงค์ขอกู้เงินดังกล่าวในข้อ 31 ต้องเสนอคำขอกู้ถึงคณะกรรมการดำเนินการตามแบบที่กำหนดไว้ รวมทั้งรายละเอียดและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รายการสินทรัพย์และหนี้สินรายได้และค่าใช้จ่าย รายการบุคคลในครัวเรือน การอยู่อาศัยเดิมและเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีที่อยู่อาศัยใหม่ แบบรูปและรายการก่อสร้างหรือต่อเติมหรือปรับปรุงอาคาร รายละเอียดและหลักฐานแห่งที่ดินที่จะ ก่อสร้างต่อเติมหรือปรับปรุงอาคาร รายละเอียดหลักฐานแห่งที่ดินและ/หรืออาคารที่จะซื้อ กำหนดเวลาและราคา สัญญาที่ทำไว้หรือร่างสัญญาที่จะทำ รายละเอียดแห่งทรัพย์สินที่เสนอเป็นประกัน
       ข้อ 33. แบบรูปและรายการก่อสร้างหรือต่อเติมหรือปรับปรุงอาคารนั้น ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายและต้องได้รับความเห็นชอบของคณะกรรมการดำเนินการด้วย
       การแก้ไขเปลี่ยนแปลงแบบรูปหรือรายการดังกล่าวในวรรคก่อน ในสาระสำคัญต้องได้รับความเห็นชอบของบุคคลซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการดำเนินการ เพื่อการนี้และต้องรายงาน คณะกรรมการดำเนินการทราบด้วย
       ข้อ 34. สหกรณ์จะมอบให้กรรมการดำเนินการหรือบุคคลอื่นตามที่เห็นสมควรสอบสวนและทำรายงานเกี่ยวกับคำขอกู้เงินพิเศษ เพื่อการเคหะสงเคราะห์เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา เป็นหน้าที่ของสมาชิกผู้ขอกู้ต้องให้ข้อความจริงและความร่วมมือ
       ข้อ 35. จำนวนเงินกู้พิเศษเพื่อการเคหะสงเคราะห์ ซึ่งให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่งๆ นั้น ย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณาเห็นสมควร โดยคำนึงถึงลักษณะที่อยู่อาศัยตามควรแก่ฐานะและความสามารถชำระหนี้ของสมาชิกนั้น แต่ไม่เกินห้าล้านบาท

       ข้อ 36. ตราบใดที่สมาชิกยังส่งคืนเงินกู้เพื่อการเคหะสงเคราะห์ไม่เสร็จตนจะให้เช่า หรือโอนอาคาร
หรือที่ดิน ซึ่งให้เงินกู้นั้นไม่ว่าบางส่วนหรือทั้งหมดแก่ผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่ในกรณีที่จำเป็นซึ่งได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากคณะกรรมการดำเนินการก่อน

 

เงินกู้พิเศษเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ

 

       ข้อ 37. เงินกู้พิเศษเพื่อลงทุนประกอบอาชีพนั้น ให้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพของตนและครอบครัว ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร และพอใจว่าจะก่อประโยชน์งอกเงยให้แก่สมาชิกผู้กู้นั้น
       ข้อ 38. สมาชิกผู้ประสงค์จะขอกู้เงินดังกล่าว ในข้อ 37 ต้องเสนอคำขอกู้ถึงคณะกรรมการดำเนินการตามแบบที่กำหนดไว้ รวมทั้งรายละเอียดและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น รายการทรัพย์สินและหนี้สินรายได้และค่าใช้จ่ายแผนงานประกอบอาชีพที่จะใช้เงินกู้ รายละเอียดหลักฐานแห่งทรัพย์สินที่จะใช้เงินกู้ รายละเอียดแห่งความต้องการเงินกู้จำนวนทุนซึ่งตนจะออกเอง รายการรายได้ซึ่งคาดว่าจะได้รับจากการลงทุนนั้น กำหนดการใช้จ่ายเงินกู้ ประสบการณ์ของตนเกี่ยวกับการประกอบอาชีพนั้น รายละเอียดและหลักฐานแห่งทรัพย์สินที่เสนอเป็นประกัน
       ข้อ 39. สมาชิกผู้ขอกู้เงินกู้พิเศษเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ ต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจแก่คณะกรรมการดำเนินการ
       ข้อ 40. สหกรณ์จะมอบให้คณะกรรมการดำเนินการหรือบุคคลอื่นตามที่เห็นสมควรสอบสวนและทำรายงานเกี่ยวกับคำขอกู้เงินพิเศษเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ เสนอคณะกรรมการดำเนินการพิจารณา เป็นหน้าที่ของสมาชิกผู้ขอกู้ต้องให้ข้อเท็จจริงและความร่วมมือ
       ข้อ 41. จำนวนเงินกู้พิเศษเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ ซึ่งให้แก่สมาชิกผู้กู้คนหนึ่ง ๆ นั้น ย่อมสุดแต่คณะกรรมการดำเนินการพิจารณากำหนดตามที่เห็นสมควร โดยคำนึงถึงความต้องการเงินกู้แท้จริงตามแผนงานประกอบอาชีพ และความสามารถชำระหนี้ของสมาชิกนั้นแต่ไม่เกินหนึ่งล้านสองแสนบาท

 

เงินกู้พิเศษสำหรับซื้อรถยนต์

 

       ข้อ 42. สมาชิกที่ประสงค์จะขอกู้เงินกู้พิเศษ เพื่อซื้อรถยนต์ต้องเสนอคำขอกู้ถึงคณะกรรมการดำเนินการตามแบบที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งรายละเอียดและหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอาทิเช่น ความต้องการเงินกู้ ชื่อรถ ประเภท ราคา และบริษัทที่จะซื้อ หลักฐานแห่งทรัพย์สินที่เสนอเป็นประกัน
       ข้อ 43. จำนวนเงินกู้พิเศษเพื่อซื้อรถยนต์แก่สมาชิกคนหนึ่งๆ นั้น สุดแต่คณะกรรมการจะเห็นสมควร โดยคำนึงถึงความจำเป็นและความสามารถชำระหนี้ แต่ต้องไม่เกินแปดแสนบาท

 

หมวด 5
ดอกเบี้ยเงินกู้

 

       ข้อ 44. ให้เรียกดอกเบี้ยเงินกู้ทุกประเภทในอัตราไม่เกินร้อยละ สิบห้าต่อปี โดยจะได้ประกาศให้ทราบเป็นคราว ๆ ไป
       ข้อ 45. ดอกเบี้ยนั้นให้คิดเป็นรายวันตามจำนวนเงินต้นคงเหลือ

 


หลักประกันสำหรับเงินกู้พิเศษ

 

       ข้อ 46. ในการกู้เงินพิเศษนั้น ผู้กู้ต้องทำหนังสือกู้ไว้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่กำหนดไว้ ถ้าเงินกู้พิเศษนั้นมีจำนวนเกินกว่าค่าหุ้น ซึ่งผู้กู้มีอยู่ในสหกรณ์ ก็ต้องมีหลักประกัน ดังต่อไปนี้
            (1) มีอสังหาริมทรัพย์อันปลอดจากภาระจำนองรายอื่น จำนองเป็นประกันจำนวนเงินกู้ราย
นั้นโดยต้องเป็นที่พอใจของคณะกรรมการดำเนินการ โดยมีหลักเกณฑ์ดังนี้
              (1.1) เอกสารสิทธิ์โฉนดพร้อมสิ่งปลูกสร้างอยู่ภายในร้อยละเก้าสิบ แห่งราคาอสังหาริมทรัพย์นั้น
              (1.2) เอกสารสิทธิ์ นส.3/นส.3 ก. พร้อมสิ่งปลูกสร้างอยู่ภายในร้อยละแปดสิบแห่งราคา
อสังหาริมทรัพย์นั้น
              (1.3) เอกสารสิทธิ์โฉนดเป็นที่ดินเปล่าอยู่ภายในร้อยละแปดสิบแห่งราคาอสังหาริมทรัพย์นั้น
              (1.4) เอกสารสิทธิ์ นส.3/นส.3 ก. เป็นที่ดินเปล่าอยู่ภายในร้อยละเจ็ดสิบแห่งราคาอสังหาริมทรัพย์นั้น
            (2) มีหลักทรัพย์รัฐบาลหรือเอกสารการฝากเงินในสหกรณ์ ซึ่งคณะกรรมการดำเนินการหรือ
คณะกรรมการเงินกู้เห็นสมควรจำนำเป็นประกัน โดยจำนวนเงินกู้อยู่ภายในร้อยละเก้าสิบแห่งราคาค่าของหลักทรัพย์นั้น
            (3) สมาชิกผู้ขอกู้เงินกู้พิเศษเพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ ต้องแสดงหลักฐานให้เป็นที่พอใจแก่คณะกรรมการดำเนินการ

 

การส่งคืนเงินกู้พิเศษ

 

       ข้อ 47. การส่งคืนเงินกู้พิเศษ มี 2 วิธี คือ
            (1) ผู้กู้ต้องส่งคืนเงินต้นเป็นงวดรายเดือนเท่าๆ กัน พร้อมดอกเบี้ย (เว้นแต่งวดสุดท้าย) หรือ
            (2) ผู้กู้ต้องส่งคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเป็นรายเดือนเท่า ๆ กัน (เว้นแต่งวดสุดท้าย)
       ทั้งนี้ แล้วแต่คณะกรรมการจะพิจารณาเห็นสมควร วิธีหนึ่งวิธีใด เป็นจำนวนกี่งวดแต่ให้อยู่ในจำกัดดังต่อไปนี้
            (1) เงินกู้เพื่อการเคหะสงเคราะห์ ส่งคืนไม่เกิน 360 งวด รวมแล้วอายุไม่เกิน 65 ปีโดยไม่มีการผ่อนเวลา
            (2) เงินกู้เพื่อการลงทุนประกอบอาชีพ ส่งคืนไม่เกิน 150 งวด โดยไม่มีการผ่อนเวลา
            (3) เงินกู้เพื่อซื้อรถยนต์ ส่งคืนไม่เกิน 72 งวด โดยไม่มีการผ่อนเวลา

 

หมวด 6
การควบคุมหลักประกันและการเรียกคืนเงินกู้

 

       ข้อ 48. ให้คณะกรรมการดำเนินการ ตรวจตราควบคุมให้เงินกู้ทุกรายมีหลักประกันตามที่กำหนดไว้
ในระเบียบนี้ และเมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่า หลักประกันสำหรับเงินกู้รายใดเกิดบกพร่องผู้กู้จะต้อง
จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
       ข้อ 49. ในกรณีใด ๆ ดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเงินกู้ไม่ว่าประเภทใด ๆ เป็นอันถึงกำหนดส่งคืนโดยสิ้นเชิงพร้อมทั้งดอกเบี้ยในทันที โดยมิพักคำนึงถึงกำหนดเวลาที่ให้ไว้และให้คณะกรรมการดำเนินการจัดการเรียกคืนโดยมิชักช้า
            (1) เมื่อผู้กู้ออกจากสหกรณ์ไม่ว่าเพราะเหตุใด ๆ
            (2) เมื่อปรากฏแก่คณะกรรมการดำเนินการว่า ผู้กู้นำเงินไปใช้ผิดความมุ่งหมายที่ให้เงินกู้นั้น
            (3) เมื่อคณะกรรมการดำเนินการเห็นว่าหลักประกันสำหรับเงินกู้ เกิดบกพร่องและผู้กู้มิได้จัดการแก้ไขให้คืนดีภายในระยะเวลาที่คณะกรรมการดำเนินการกำหนด
            (4) เมื่อค้างส่งเงินงวดชำระหนี้ (ไม่ว่าต้นเงินหรือดอกเบี้ย) เป็นเวลาสองเดือนติดต่อกัน หรือผิดนัดการส่งเงินงวดชำระหนี้ดังว่านั้นถึงสามคราวสำหรับเงินกู้รายหนึ่ง ๆ
       ข้อ 50. ในกรณีที่เงินกู้เป็นอันต้องส่งคืนโดยสิ้นเชิงตามที่กล่าวแล้วในข้อ 49 ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดชำระหนี้แทนผู้กู้ และไม่สามารถชำระหนี้นั้นโดยสิ้นเชิงได้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอคณะกรรมการดำเนินการอาจผ่อนผันให้เรียกเก็บจากผู้ค้ำประกันเป็นงวดรายเดือนจนเสร็จตามที่ผู้กู้ได้ทำหนังสือกู้ให้ไว้ต่อ สหกรณ์ก็ได้สุดแต่จะพิจารณาเห็นสมควร
       ข้อ 51. ผู้กู้ก็ดี ผู้ค้ำประกันก็ดี ต้องรับผูกพันว่า ถ้าตนประสงค์จะขอออก หรือย้ายจากราชการหรืองานประจำตามระเบียบว่าด้วยคุณสมบัติ วิธีรับสมาชิกและการขาดจากสมาชิกภาพต้องแจ้งเป็นหนังสือให้สหกรณ์ทราบ และจัดการชำระหนี้สินซึ่งตนมีอยู่ต่อสหกรณ์ให้เสร็จสิ้นเสียก่อนแล้วจึงขอออกหรือย้ายจากราชการหรืองานประจำนั้นได้

 

หมวด 7
การผ่อนชำระและการปรับโครงสร้างหนี้

 

       สมาชิกที่เป็นลูกหนี้สหกรณ์ในฐานะผู้กู้และหรือผู้ค้ำประกัน หากไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามสัญญาหรือตามระเบียบสหกรณ์ว่าด้วยการให้เงินกู้แก่สมาชิก และมีเอกสารหลักฐานแสดงให้เห็นว่า มีเหตุอันจำเป็น อาจขอผ่อนชำระหนี้หรือปรับโครงสร้างหนี้กับสหกรณ์ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
       ข้อ 52. การผ่อนชำระหนี้ คือ พักหรือหยุดชำระหนี้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ใช้ในกรณีที่สมาชิกผู้กู้มีเหตุทำ
ให้รายได้หยุดชะงักชั่วระยะเวลาหนึ่ง สมาชิกผู้กู้อาจขอพักชำระหนี้และขยายงวดชำระหนี้ได้ไม่เกินเวลาที่รายได้หยุดชะงัก แต่ต้องให้ผู้ค้ำประกันยินยอมด้วยทุกครั้ง
       ในกรณีสมาชิกผู้ค้ำประกันหรือบุคคลอื่นที่ต้องชำระหนี้แทนผู้กู้แต่ไม่สามารถชำระหนี้นั้นได้โดยสิ้นเชิงในคราวเดียว จะขอผ่อนผันชำระหนี้ ตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขของผู้กู้ก็ได้ หรือตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร
       ข้อ 53. การปรับโครงสร้างหนี้ คือ การทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เช่น เงินต้น ดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ย งวดชำระหนี้ ระยะเวลาชำระหนี้อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างตามที่คณะกรรมการดำเนินการเห็นสมควร โดยสหกรณ์และสมาชิกตกลงที่จะผูกผันสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

            1.1 สมาชิกต้องส่งเงินงวดชำระหนี้เงินกู้สามัญไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของเงินบำนาญหรือเงินบำเหน็จรายเดือน แต่ต้องไม่เกิน 150 งวด และต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ค้ำประกันก่อนยกเว้นเงินกู้เพื่อชำระหนี้สหกรณ์ในฐานะผู้ค้ำประกัน
            1.2 ผู้กู้ที่มีอายุตั้งแต่ 70 ปี ขึ้นไปจะต้องมีเงินกู้คงเหลือไม่เกินค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่ ณ วันปรับโครงสร้างหนี้
            1.3 การปรับโครงสร้างหนี้ด้วยการเปลี่ยนแปลงต้นเงิน หรือเปลี่ยนเป็นบุคคลอื่นชำระหนี้
แทนผู้กู้ให้ทำเป็นสัญญาแปลงหนี้
               1.3.1 วิธีปฏิบัติในการผ่อนชำระหนี้หรือการปรับโครงสร้างหนี้
                    (1) ยื่นคำขอผ่อนชำระหนี้ หรือการปรับโครงสร้างหนี้ต่อสหกรณ์ตามแบบที่สหกรณ์
กำหนด พร้อมทั้งแนบเอกสารหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีเหตุอันจำเป็น
                    (2) ผู้จัดการเสนอความเห็นต่อคณะกรรมการเงินกู้สามัญ หรือคณะกรรมการเงินกู้พิเศษ
แล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาอนุมัติ
                    (3) เมื่อคณะกรรมการเงินกู้สามัญหรือคณะกรรมการเงินกู้พิเศษพิจารณาอนุมัติแล้ว ผู้ขอ
ผ่อนชำระหนี้หรือผู้ขอปรับโครงสร้างหนี้ต้องทำหนังสือต่อท้ายสัญญาเว้นแต่กรณีตาม ข้อ 53 (1.3)

ให้ประธานกรรมการ เป็นผู้รักษาการตามระเบียบนี้

 

 

กำหนดไว้ ณ วันที่ 24 กันยายน พ.ศ.2564

นายสมบูรณ์ อัยรักษ์

(นายสมบูรณ์ อัยรักษ์)
ประธานกรรมการสหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด

สหกรณ์ออมทรัพย์สาธารณสุขภูเก็ต จำกัด
โทร : 087 724 3723